ตำรวจไทย ปิดฉากปฏิบัติการ Cyber Guardian สำเร็จ ด้วยพลังความร่วมมือจาก BINANCE

กรุงเทพฯ (2 ธันวาคม 2567) – กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินระดับโลก ของไบแนนซ์ ประสบความสำเร็จในการทลายเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ ภายใต้ปฏิบัติการครั้งสำคัญ ‘Cyber Guardian’ ตอกย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน พร้อมกับการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อต่อกรกับอาชญากรรมไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเริ่มต้นของปฏิบัติการ Cyber Guardian

ปฏิบัติการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการหลอกลวงทางออนไลน์ผ่านแผนการลงทุนปลอม ที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อบนโซเชียลมีเดียหลอกล่อเหยื่อเข้าสู่โอกาสทางการลงทุนที่ดูน่าเชื่อถือ โดยกลุ่มอาชญากรจะใช้แผนการนี้เพื่อโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีม้าที่เตรียมไว้

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว กลุ่มอาชญากรได้หลอกลวงเงินจากเหยื่อ เป็นมูลค่ากว่า 3.8 ล้านบาท (ประมาณ 110,000 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยเงินที่ได้มานั้นถูกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดิจิทัล (USDT) และโอนผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลหลายใบ ก่อนนำไปใช้ซื้อทรัพย์สินมูลค่าสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ โฉนดที่ดิน และรถยนต์

เปิดโปงเครือข่ายอาชญากรรม

การสืบสวนครั้งนี้ นำโดย พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ไหวดี ผกก.3 บก.ปอท. และทีมงาน ซึ่งสามารถเปิดโปงเครือข่ายอาชญากรรมนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเครือข่ายนี้ไม่ได้เป็นเพียงการหลอกลวงภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นถึงการดำเนินการข้ามชาติผ่านการใช้บัญชีม้า นายหน้า และการฟอกเงินข้ามพรมแดนขั้นสูง

เครือข่ายอาชญากรรมนี้ใช้บัญชีม้าที่มาจากการว่าจ้างประชาชนที่มีฐานะยากจนให้เปิดบัญชีธนาคาร ด้วยการเสนอค่าตอบแทนเพียง 5,000 บาท (ประมาณ 145 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแลกกับการใช้ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขา ซึ่งจากการตรวจสอบยังพบว่าผู้ถือบัญชีม้าบางรายได้ถูกส่งข้ามเขตพรมแดนไทย-กัมพูชาไปยังปอยเปต เพื่อไปสแกนข้อมูลส่วนตัวและสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับรับเงินที่ได้จากการหลอกลวงอีกด้วย

จากการวิเคราะห์อย่างละเอียดของเจ้าหน้าที่สืบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินระดับโลก ของไบแนนซ์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามธุรกรรมดิจิทัลที่ผิดปกติ และเชื่อมโยงกระเป๋าเงินดิจิทัลกับเครือข่ายหลักของผู้ต้องสงสัย โดยความร่วมมือครั้งนี้มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยเส้นทางการเงินดิจิทัลที่เชื่อมโยงไปยังตัวการสำคัญ และนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาในที่สุด

พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ไหวดี กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “การทำงานร่วมกับไบแนนซ์ ช่วยให้เราสามารถเปิดโปงเครือข่ายอาชญากรรมที่อาจถูกมองข้ามไปได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวิธีการสืบสวนสมัยใหม่ในการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงและเติมเต็มช่องว่างระหว่างการเงินแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ปฏิบัติการจับกุม และการยึดทรัพย์สิน

เมื่อรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอแล้ว ทีมงานสอบสวนไทยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ ทั้งนี้ ปฏิบัติการ Cyber Guardian ปิดฉากด้วยการบุกตรวจค้นอย่างเป็นระบบ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจพื้นที่ในจังหวัด  นครราชสีมา ตาก สงขลา รวมถึงกรุงเทพฯ พร้อมหมายจับและข้อมูลจากการสอบสวนที่แม่นยำ

ปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา 7 ราย ซึ่งแต่ละรายมีบทบาทแตกต่างกันในเครือข่าย ได้แก่ ผู้ถือบัญชีม้า 2 ราย ที่ยอมให้ใช้บัญชีม้าของตนแลกกับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย นายหน้าหาบัญชีม้า 2 ราย ที่ทำหน้าที่สรรหาและอำนวยความสะดวกในการโอนเงิน และกลุ่มฟอกเงิน รวมถึงผู้รับผลประโยชน์ 3 ราย ที่รับผิดชอบการฟอกเงิน และนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ

การตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถยึดทรัพย์สินเป็นมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท (ราว 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งรวมไปถึงคฤหาสน์หรูมูลค่า 27 ล้านบาท รถยนต์หรู ทองคำแท่ง สินค้าแบรนด์เนม และโฉนดที่ดินในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ โดยทรัพย์สินที่ยึดได้เหล่านี้มีมูลค่าสูงลิ่วชี้ให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุดำเนินการมาเป็นเวลานานก่อนการหลอกลวงทางโซเชียลมีเดียครั้งล่าสุด

ความมุ่งมั่นของไบแนนซ์ในการปราบปรามอาชญากรรมคริปโต

ความเชี่ยวชาญของไบแนนซ์ในด้านการวิเคราะห์ระบบบล็อกเชนมีบทบาทสำคัญในการจัดหาหลักฐานที่จำเป็น เพื่อให้ปฏิบัติการ Cyber Guardian ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วง

นายนีลส์ แอนเดอร์สัน-เริด หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินระดับโลก (FIU) ของไบแนนซ์

นายนีลส์ แอนเดอร์สัน-เริด หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินระดับโลกของไบแนนซ์ กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับตำรวจไทยในปฏิบัติการ Cyber Guardian โดยความร่วมมือครั้งนี้ช่วยให้เราสามารถนำความโปร่งใสของบล็อกเชนมาใช้เปิดเผยเส้นทางการเงินที่ซับซ้อน และนำเครือข่ายอาชญากรมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ ซึ่ง ไบแนนซ์ จะยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นต่อไป”

ทั้งนี้ คดีนี้ได้ตอกย้ำถึงภารกิจของไบแนนซ์ในการทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งแนวทางเชิงรุกของไบแนนซ์ด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและการสืบสวน ทำให้ไบแนนซ์กลายเป็นพันธมิตรสำคัญในการปราบปรามผู้กระทำผิดในอุตสาหกรรมนี้

บทสรุปจากความร่วมมือ และจุดมุ่งหมายความสำเร็จในอนาคต

ปฏิบัติการ Cyber Guardian ไม่ใช่เพียงชัยชนะของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามอาชญากรรมไซเบอร์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ความสำเร็จของคดีนี้สะท้อนถึงพลังความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงการผสานแนวทางการสืบสวนแบบดั้งเดิมกับวิธีวิเคราะห์บล็อกเชนสมัยใหม่

ด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่าง ไบแนนซ์ และหน่วยงานบังคับใช้กฏหมาย การต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์ในอนาคตจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันนั้น ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเหยื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นการมุ่งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัยและมั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนด้วยเช่นกัน

Loading