ไมโครซอฟท์ ร่วมกับ LinkedIn เจาะลึกพฤติกรรมการใช้ AI คนทำงาน ผ่านรายงาน Work Trend Index ฉบับปี 2024

ประเด็นสำคัญ:

  • พนักงานไทยใช้ AI เป็นประจำเพื่อรับมือกับงานที่ล้นมือ ผู้บริหารจึงต้องเร่งหาแนวทางสนับสนุนเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและปลอดภัย
  • 3 สาขาที่ผู้บริหารทั่วโลกกังวลว่าจะขาดแคลนได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์, วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์
  • กลยุทธ์สู่ความสำเร็จขององค์กรในการนำ AI มาใช้:มุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาหรือความท้าทาย>
    ร่วมกันกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งาน AI >สร้างโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ

กรุงเทพฯ 19มิถุนายน 2024– ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยร่วมกับLinkedInเผยผลงานวิจัย Work Trend Index2024เปิดข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของคนทำงานในประเทศไทยและทั่วโลกในการนำนวัตกรรมAI มาใช้ในที่ทำงาน

รายงาน Work Trend Index 2024รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก* รวมถึงประเทศไทย พร้อมด้วยแนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรม AI ได้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลก

ปี 2024ถือเป็นปีของ AI เพื่อการทำงานอย่างแท้จริงหลังจากที่มีพนักงานทั่วโลกนำ Generative AI มาใช้ทำงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ใช้ LinkedIn จำนวนไม่น้อยได้นำเอาทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับAI มาเพิ่มเติมลงในเรซูเม่ของตนมากขึ้นทางด้านผู้บริหารส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจะไม่จ้างผู้สมัครที่ไม่มีทักษะด้าน AI แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารจำนวนมากทั้งในเอเชียและทั่วโลก ยังคงกังวลเกี่ยวกับการขาดวิสัยทัศน์ด้านAI ของบริษัท และการที่พนักงานนำเครื่องมือ AI ส่วนตัวมาใช้ในสถานที่ทำงานด้วยเหตุนี้ผู้บริหารในหลายองค์กรจึงต้องเผชิญความยากลำบากกับการปรับตัวเมื่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ต้องเปลี่ยนผ่านจากช่วงการทดลองใช้งานไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยกล่าวว่า “ในปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าพนักงานส่วนใหญ่เลือกนำAI มาช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน โดยที่ไม่ได้รอดูว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฎการณ์นี้ เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน”

ทั้งนี้ รายงานการสำรวจWork Trend Index 2024 ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกใน3ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งผู้บริหารและพนักงานในประเทศไทยและสะท้อนถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานตลอดทั้งปีนี้

  1. พนักงานต้องการนำนวัตกรรมAI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม

ผลสำรวจ Work Trend Index เผยว่าพนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75%โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกได้ว่า Bring Your Own AI (BYOAI)ซึ่งอาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร และยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล

แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงานนี้ อาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย68% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลาดังนั้นAIจึงเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น

ทางด้านผู้บริหาร พบว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรมAI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79%แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำAI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60% นอกจากนี้ ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ผู้บริหารและองค์กรยังต้องก้าวผ่านไปให้ได้

  1. ผู้ใช้งาน AI ในระดับ PowerUsers มีเพิ่มมากขึ้น และอาจช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผลสำรวจได้เผยให้เห็นถึงความแตกต่างในพฤติกรรม AI ของกลุ่มพนักงานที่เป็น AI Power Usersหรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มักจะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวันและสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน

ในประเทศไทย กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85% แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%

นอกจากนี้โครงสร้างในการสนับสนุนการใช้งานAI ในองค์กรไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของAI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งานAI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%

  1. AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะและช่วยทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ

ทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้านAI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% นอกจากนี้ หากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่าแต่ขาดทักษะในด้านนี้ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%

ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด

ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน ยังเผยอีกว่า

  • ข้อมูลจากช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่า จำนวนของสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่าตัว
  • ในช่วง 2 ที่ผ่านมา พบว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทาง LinkedIn หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับAI ด้วยจะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%
  • ในกลุ่ม10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้านAI มากที่สุดนั้นพบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง2 ตำแหน่ง(นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์กราฟฟิกดีไซน์และการตลาด

นายธนวัฒน์กล่าวเสริมอีกว่า “เราต้องเริ่มที่จะนำAI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลหรือไอเดียต่างๆได้อย่างรวดเร็วเพิ่มผลิตภาพและความคิดสร้างสรรค์ให้AI เป็นหนึ่งในผู้ช่วยของเราดังนั้นองค์กรจึงควรที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำAI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อคอุปสรรคต่างๆในการทำงานของพนักงานในขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้องคิดว่าควรทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้านAI ให้กับบุคลากรของเราและเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือAI ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งานรวมถึงให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งานAI ในองค์กรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นผลสำเร็จได้จริงในทุกตำแหน่งและสายงาน”

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้เผยคุณสมบัติใหม่ๆ ในบริการ Copilot for Microsoft 365 ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยสนับสนุนการเริ่มต้นใช้งาน AI ในที่ทำงาน

  • Copilot จะโต้ตอบกับผู้ใช้งานมากขึ้น โดยระบบจะแนะนำชุดคำสั่งถัดไปหรือถามคำถามเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถตอบสนองคำสั่งของผู้ใช้งานและสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด
  • หน้าจอแชทแบบใหม่ของ Copilot จะเสนอคำแนะนำตามสถานการณ์ปัจจุบันหรือกิจกรรมล่าสุดของผู้ใช้งาน เช่นอาจมีข้อความแจ้งเตือนว่า “คุณพลาดการประชุมของทีมฝ่ายขายเมื่อวันอังคารนะ อ่านสรุปการประชุมนี้ได้ที่นี่” รวมถึงคัดเลือกอีเมลที่สำคัญมาให้ผู้ใช้งานติดตามอ่าน
  • ช่องพิมพ์คำสั่งของ Copilot จะมีระบบเติมคำอัตโนมัติ (autocomplete) เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมในการป้อนคำสั่ง นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์สำหรับช่วยเขียนคำสั่งที่พร้อมขยายคำสั่งพื้นฐานทั่วไปให้สมบูรณ์และมีรายละเอียดมากขึ้น โดยเขียนขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลจากการประชุม เอกสาร และอีเมลของผู้ใช้แต่ละคน
  • อัปเดตใหม่สำหรับ Copilot Lab เปิดให้พนักงานสามารถเขียน แชร์ และจัดการกับคำสั่งสำเร็จรูปที่เขียนขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางของแต่ละทีม

ขณะเดียวกัน LinkedIn ก็นำเสนอคอร์สอบรมเกี่ยวกับ AI กว่า 600 รายการ เพื่อให้คนทำงานสามารถก้าวต่อไปบนเส้นทางในสายอาชีพได้อย่างมั่นใจ โดยล่าสุดได้เปิดให้ผู้ใช้ LinkedIn ทุกคนสามารถร่วมเรียนรู้จากคอร์สเกี่ยวกับ AI จำนวน 50 หลักสูตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นับตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

  • นอกจากนี้ LinkedIn ยังมีบริการแนะนำหลักสูตรด้วย AI ที่สามารถคัดเลือกและนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจและสายงานของผู้ใช้แต่ละคน พร้อมด้วยการเรียนรู้ผ่านบทสนทนากับ AI
  • สำหรับผู้ใช้งาน LinkedIn Premium ยังมีฟีเจอร์ AI สรุปใจความสำคัญใน LinkedIn Feed ที่ช่วยเผยข้อมูล แนะนำไอเดียใหม่ๆ และกิจกรรมที่น่าสนใจ
  • เครื่องมือ AI ของ LinkedIn ช่วยให้คุณสามารถประเมินความเหมาะสมของตนเองเมื่อเทียบกับตำแหน่งงานได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยอ้างอิงจากข้อมูลประสบการณ์และทักษะของคุณ นอกจากนี้ คุณยังสามารถขอคำแนะนำในการเขียนโปรไฟล์ให้โดดเด่น และช่องทางในการพัฒนาทักษะที่สำคัญอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน Work Trend Index 2024 ได้ที่บล็อกของไมโครซอฟท์พร้อมด้วยบทความสรุปรายงานฉบับเต็มหรือพบกับบทวิเคราะห์เพิ่มเติม จาก LinkedIn โดย คาริน คิมเบรอ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์

*การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมประเทศและเขตปกครองพิเศษต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดังนี้: ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

Loading