สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในฐานะหน่วยงานที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลไทย เดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยจับมือกับไมโครซอฟท์ เพื่อยกระดับระบบกฎหมายของประเทศ และก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) อย่างมั่นคง พร้อมสะท้อนว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ “ผู้คน”
ภายในอาคารอันสง่างามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของภูมิภาคในอดีต กำลังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางดิจิทัลเกิดขึ้นในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงสร้างกฎหมายของประเทศมากว่าศตวรรษ กำลังก้าวสู่บทบาทใหม่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ที่จะไม่เพียงยกระดับการยกร่าง ปรับปรุง และเข้าถึงกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก
“การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่คือเรื่องของคน และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนความก้าวหน้าของประเทศไทย” นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว
ด้วยความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ สคก. ได้นำศักยภาพของคลาวด์และ AI ในใช้ในการบริหารจัดการเอกสารกฎหมายจำนวนมหาศาล ลดความซับซ้อนของการเปรียบเทียบกฎหมาย และเร่งผลักดันเป้าหมายของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ให้เป็นรูปธรรม
ความท้าทายของระบบกฎหมายไทยในยุคดิจิทัล
ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก จากจำนวนกฎหมายที่มีอยู่มากกว่า 70,000 ฉบับ ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา ประกาศ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ทำให้เกิดความซับซ้อนทั้งในเชิงโครงสร้างและเนื้อหา
“เอกสารทางกฎหมายเหล่านี้มีจำนวนมากและมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างยิ่ง” นายปกรณ์ อธิบาย “กฎหมายแต่ละฉบับอาจมีผลต่อหรือถูกจำกัดโดยกฎหมายอื่น ๆ อีก และทุกฉบับต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรฐานสากล การดูแลให้ทุกอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องกันจึงเป็นภารกิจที่สำคัญมาก”
ในอดีต บุคลากรของสคก. ต้องอาศัยเอกสารฉบับพิมพ์และองค์ความรู้ภายในองค์กรเป็นหลัก แม้จะมีการพัฒนาฐานข้อมูลกฎหมายมาตั้งแต่พ.ศ. 2537 แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านการสืบค้น การจัดโครงสร้าง และการเข้าถึงข้อมูล
เปิดตัวระบบ TH2OECD พลิกโฉมการเปรียบเทียบกฎหมายด้วย AI
หัวใจของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้คือ “TH2OECD” ระบบ AI เพื่อการเปรียบเทียบกฎหมาย ที่สคก.พัฒนาร่วมกับ STelligence พันธมิตรของไมโครซอฟท์ ระบบ AI นี้สร้างบนแพลตฟอร์ม Microsoft Azure OpenAI ซึ่งระบบนี้สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ กับข้อกำหนดของ OECD กว่า 270 ฉบับ ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
“ทึ่ผ่านมาภาษาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการทำให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” นายปกรณ์ กล่าว “แต่วันนี้ ด้วยเครื่องมือแปลภาษาและเปรียบเทียบที่ขับเคลื่อนด้วย AI เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นได้”
ระบบ AI ช่วยแปลกฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ และแปลข้อกำหนดของ OECD เป็นภาษาไทยโดยอัตโนมัติ จากนั้นใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) เพื่อเปรียบเทียบและไฮไลต์ความแตกต่าง ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายสามารถประเมินความสอดคล้อง และแนะนำแนวทางปรับปรุงได้อย่างแม่นยำ
ระบบทั้งหมดทำงานบน Microsoft Azure ซึ่งทำให้สคก. สามารถเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลกฎหมายในรูปแบบ PDF ที่ไม่สามารถสืบค้นได้ ไปสู่การจัดเก็บในรูปแบบที่เป็นโครงสร้าง พร้อมค้นหาได้ทันที นอกจากนี้ ยังใช้ Microsoft 365 และ Copilot เพื่อให้ทีมงานสามารถทำงานร่วมกัน อัปเดตเอกสาร และวิเคราะห์เชิงนโยบายได้จากทุกที่ทั่วประเทศ
นายไมค์ เย รองประธานภูมิภาคฝ่ายกิจการองค์กรภายนอกและกฎหมาย กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการนำ AI มาใช้เพื่อปรับกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ภารกิจในการเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับกับเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD กว่า 276 รายการภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ ขณะที่สคก. ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าและความเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ก้าวสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างยั่งยืน
การปรับปรุงระบบกฎหมายของไทยไม่ใช่เพียงการปฏิรูประดับชาติ แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือระดับโลก
“การเป็นสมาชิก OECD ไม่ใช่เพียงการได้เครื่องหมายรับรอง แต่เป็นคำมั่นสัญญาว่าเราจะยึดมั่นในมาตรฐานสากล ความโปร่งใส และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นายปกรณ์ กล่าวเสริม “ระบบ TH2OECD กำลังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ได้เร็วขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติระดับโลก”
ในอนาคต สคก. มีแผนขยายการใช้งานระบบนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่น ๆ พร้อมพัฒนา “ศูนย์รวมข้อมูลกฎหมายส่วนกลาง” ที่ให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยมี AI คอยสนับสนุน
สร้างรากฐานแห่งความยั่งยืนผ่านเทคโนโลยี
เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความโปร่งใส ครอบคลุม และทันสมัย ผู้นำในภาครัฐทราบดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อความยุติธรรมและระบบกฎหมาย ตลอดจนการร่วมมือกับพันธมิตรที่เชื่อถือได้ โดยสคก. ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยี AI และคลาวด์สามารถรับใช้ประโยชน์สาธารณะได้อย่างแท้จริง
“เราไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงเพียงเพราะต้องเปลี่ยน” นายปกรณ์ กล่าวปิดท้าย “แต่เราเชื่อในการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยส่งเสริมพลังของผู้คน ให้ทุกกฎหมายไม่ใช่แค่มีอยู่ในเล่ม แต่สามารถเข้าถึงและปกป้องทุกคนได้จริง”
รับชมวิดีทัศน์การพลิกโฉมระบบกฎหมายของประเทศไทยด้วย AI ได้ที่นี่