AIS บุกโรงเรียน กทม. จัดกิจกรรม “วัยรุ่นตัว TOP STOP ภัยไซเบอร์” เดินหน้าสู่การเป็น โรงเรียนอุ่นใจไซเบอร์ 100% ผ่าน “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”

ผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)พบว่าในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 10-15 ปี ในพื้นที่ กรุงเทพฯ กว่า 82.97% อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา นั่นหมายความว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 81.49% ขาดทักษะด้านการจัดสรรเวลาในการใช้งานบนโลกออนไลน์ และ75.15% ขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตัวเองจากภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งที่ผ่านมา AIS อุ่นใจ CYBER และ กรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกันผ่านการนำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์  ให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

ล่าสุดเดินหน้าจัดกิจกรรม “กทม. x AIS อุ่นใจ CYBER School Tour วัยรุ่นตัว TOP STOP ภัยไซเบอร์”ด้วยแนวคิด Gamification หรือ โลกแห่งการเรียนรู้ผ่านเกม นำร่องใน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนาหลวง, โรงเรียนวัดยายร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์), โรงเรียนประชาอุทิศ(จันทาบอนุสรณ์) และโรงเรียนบ้านบางกะปิตั้งเป้าเป็น โรงเรียนอุ่นใจไซเบอร์ พร้อมขยายผลการสร้างพลเมืองดิจิทัล ยกระดับการใช้งานสื่อและโลกออนไลน์ให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม.กว่า 250,000 คนเข้าศึกษาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์และได้รับประกาศนียบัตรทุกโรงเรียนรวม 437 แห่งภายในปีการศึกษา2567โดยเอไอเอสจะได้ร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จัดรูปแบบการส่งเสริมที่เหมาะสมโดยบูรณาการการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดของการเรียนการสอนที่สนับสนุนทักษะวิทยาการคำนวณ และการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) แก่โรงเรียนในสังกัด กทม.ต่อไป

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กลุ่มGen Z หรือเด็กในที่อยู่ในช่วงประถม มัธยม เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ทำให้พวกเขามีความคุ้นเคยกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการที่เด็กๆ ต้องใกล้ชิดกับภัยที่แฝงมากับการใช้งานอย่างไม่รู้ตัว โดยที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการใช้งานดิจิทัลเพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สอดคล้องกับภารกิจด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปีนี้ที่เราต้องการสร้างทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ หรือ Critical Thinking ให้กับเด็กๆ นักเรียน

อย่างการทำงานร่วมกับ AIS โดยนำหลักสูตรดิจิทัลอย่าง หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มาใช้ในโรงเรียน กทม. เรามุ่งหวังให้เข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอนของครู ผ่านไปยังนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนำร่องใน 4 พื้นที่ได้แก่ โรงเรียนนาหลวง, โรงเรียนวัดยายร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์), โรงเรียนประชาอุทิศ(จันทาบอนุสรณ์) และ โรงเรียนบ้านบางกะปิโดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างโรงเรียนต้นแบบที่ ครู นักเรียน และบุคลากร ผ่านการศึกษาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มีทักษะด้านดิจิทัลแบบครบถ้วน และเราต้องการที่จะทำงานร่วมกันไปอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสร้างโรงเรียนอุ่นใจปลอดภัยไซเบอร์ 100% ในปีการศึกษา 2567ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ให้นักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ กทม. ใช้งานโลกออนไลน์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์

ด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “กิจกรรมวัยรุ่นตัว TOP STOP ภัยไซเบอร์ เกิดขึ้นจากความตั้งใจระหว่าง AIS กับ กทม. ในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัลให้กับน้องๆนักเรียนด้วยการถ่ายทอดเนื้อหาจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ออกมาในรูปแบบ Gamification เพื่อให้เข้าถึงเด็กนักเรียนได้ง่าย ที่นอกจากจะมีความสนุกสนานแล้วยังสอดแทรกไปด้วยความรู้ และนำไปสู่การเข้าไปเรียนรู้บทเรียนเต็มต่อไป กิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับน้องๆ นักเรียน เยาวชนเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะทำให้ระดับสุขภาวะด้านดิจิทัลของนักเรียนใน กทม. ดียิ่งขึ้น จนนำไปสู่การแก้ไขและลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานออนไลน์ทุกรูปแบบ AIS อุ่นใจ CYBER พร้อมเป็นแกนกลางในการสร้างความตระหนักรู้เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *