AIS เดินหน้าส่ง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เข้าสถานศึกษา พร้อมส่งต่อสู่นักเรียนไทย เริ่มแล้วกว่า 29,000 โรงเรียนในเครือ สพฐ. ทั่วประเทศ ยกระดับทักษะสร้างพลเมืองดิจิทัล ให้รู้ทันภัยไซเบอร์

AIS เดินหน้าขยายผลโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่าน ศึกษานิเทศก์ ครูอาจารย์ ไปสู่ นักเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต รวม 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มต้นการเรียนการสอนภายในภาคต้น ของปีการศึกษา 1/2566 เป็นต้นไป

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เกิดจากการทำงานร่วมกัน AIS และภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับการเรียนการสอน ปลูกฝังทักษะดิจิทัล ผ่านเนื้อหา 4 Professional Skill Module หรือ  4P4ป คือ 1). Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2). Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3). Protection:  เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4). Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ให้กับเด็ก เยาวชน และคนไทย

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “หลังจากที่เราได้เปิดตัว หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และได้มีการทดลองทดสอบบนระบบ Sandbox ที่มีคุณครู นักเรียน เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน จากการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตลอดปีที่ผ่านมา วันนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราพร้อมขยายผลผ่านไปยัง ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ที่อยู่ในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในการนำเข้าไปอยู่ในการเรียน การสอน หรือ กิจกรรม ที่จะบ่มเพาะให้นักเรียนค่อยๆเพิ่มพูนความรู้ และทักษะดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอย่างชัดเจน โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยเทคนิคการสอนของครูอาจารย์ จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิชาการที่จะสนับสนุนให้เยาวชนเกิดภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน”

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “การก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ถือเป็นภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สามารถตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในครั้งนี้ที่เราร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถาบันการศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ที่จะทำให้นักเรียนและเยาวชนของเรามีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด และจะเป็นการยกระดับภาคการศึกษาไทยให้ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ในกลุ่มก่อนระดับอุดมศึกษา มีองค์ความรู้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี

ผ่านการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมแนะแนว หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับโครงสร้างวิธีการทำงานของแต่ละสถาบันการศึกษา ด้วยความพร้อมของบุคลากรของ สพฐ. ทั้ง 245 เขต ไม่ว่าจะเป็น ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา จะสามารถขยายผลให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศได้เรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ภายในภาคต้น ของปีการศึกษา 1/2566 ที่กำลังจะมาถึง และเชื่อว่าจะช่วยผู้เรียนให้สามารถรับมือและอยู่ร่วมกับการใช้งานออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์”

ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า “ภัยดิจิทัลมีหลายรูปแบบ อาทิ การระรานทางไซเบอร์ การถูกเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ การฉ้อโกงออนไลน์ รวมทั้งข่าวปลอม ดังนั้น การทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์จึงสำคัญ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เป็นหลักสูตรที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากช่วยปลูกฝังทักษะดิจิทัล สอดคล้องกับสมรรถนะสำคัญของนักเรียน ทั้งความสามารถทางการคิด และความสามารถทางการใช้เทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้เพื่อการตัดสินใจ

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา จึงขยายผลการใช้หลักสูตรนี้ลงสู่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. โดยกระตุ้นให้ครูนำไปใช้เป็นสื่อการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)  บูรณาการกับรายวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ จัดให้อยู่ในกิจกรรมชมรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือกิจกรรมแนะแนว ทั้งนี้บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา คือวางแผนและปรับใช้ในสถานศึกษา บทบาทของครูผู้สอน คือนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้แก่นักเรียน สำหรับนักเรียน คือการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของตนเอง และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถรับมือและอยู่ร่วมกับการใช้งานออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ป้องกัน เพื่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *