หัวเว่ย ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะล้ำยุค ปลดล็อคศักยภาพเพื่อก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

กรุงเทพฯ 15 สิงหาคมพ.ศ.2566 –สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา รวมไปถึงการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว และอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้หลายภาคอุตสาหกรรมที่ยังต้องการโซลูชันใหม่ เพื่อที่จะช่วยผลักดันธุรกิจให้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรธุรกิจไทยจะต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างราบรื่น จนสามารถก้าวข้ามวิกฤตโลกที่ลากยาวมาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ได้*

คำถามสำคัญในตอนนี้คือประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หากองค์กรไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง และองค์กรไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้หรือไม่

เพื่อเป็นการตอบคำถามสำคัญดังกล่าวนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association หรือ TMA) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ฟื้นตัวได้ โดยสมาคมฯ มุ่งส่งเสริมความเป็นเลิศในการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำ ด้วยประสบการณ์อันยาวนานกว่า 50 ปีสมาคมฯให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสถานการณ์ digital disruption และเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ถือเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้องค์กรสามารถเดินหน้าฝ่าความท้าทายต่างๆ ท่ามกลางสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยและอุตสาหกรรมต่างๆ ไปสู่ยุคดิจิทัลแห่งอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งอีกด้วย

โดยวัตถุประสงค์ของTMAไม่เพียงแค่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างองค์กร แต่ยังเพื่อสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นให้กับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย สมาคมฯ จึงร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำในการเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ นำมาสู่ระบบอีโคซิสเต็มที่เข้าถึงได้ทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงบริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)นวัตกรรมดิจิทัลของหัวเว่ยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินทางเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทั้งภายในองค์กรของหัวเว่ยเองและสำหรับองค์กรอื่นๆ มากมาย

บทบาทของหัวเว่ยต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย     

หัวเว่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำของประเทศไทย ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศ ปัจจุบัน หัวเว่ยดำเนินงานในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์คอนซูมเมอร์อัจฉริยะ (Smart Consumer Device) กลุ่มธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายโทรคมนาคม (Carrier Business Infrastructure) กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร (Enterprise Business) กลุ่มธุรกิจระบบคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) และกลุ่มธุรกิจพลังงานดิจิทัล (Digital Power) หัวเว่ยจึงสามารถนำเสนอโซลูชันเทคโนโลยีที่หลากหลายและล้ำสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของลูกค้าแต่ละรายและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลได้

หัวเว่ยช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว จากโซลูชันอีคอมเมิร์ซ ระบบสุขภาพอัจฉริยะ ระบบการผลิตอัจฉริยะ รวมไปถึงการทำงานจากบ้าน (Work from Home) เนื่องมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี 5G และระบบคลาวด์ทั้งนี้ หัวเว่ย มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนองค์กรธุรกิจในช่วงเวลาดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและประสบการณ์ระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมใหม่เหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่เพียงสะท้อนถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G, คลาวด์ และพลังงานดิจิทัลในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าองค์กรอย่างหัวเว่ย สามารถเข้ามามีส่วนช่วยเสริมรากฐานความแข็งแกร่งให้กับอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย

 

สี่เสาหลักของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

กลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลภายในองค์กรหัวเว่ย ตั้งอยู่บน4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 5G, AI, Cloud และ Cybersecurityโดยเทคโนโลยีทั้งสี่ด้านนี้ถือเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและยังปลดล็อคให้องค์กรธุรกิจสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทันท่วงทีนายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้อธิบายพร้อมยกตัวอย่างถึงวิธีการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย เช่น การใช้เทคโนโลยี 5G ในการจัดทำระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine)การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในกระบวนการผลิตอัจฉริยะช่วยให้สามารถควบคุมเครื่องจักรเครนและเครื่องยนต์ขนส่งได้จากระยะไกลโดยการเชื่อมต่อกันผ่านระบบ 5G ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานอีกด้วย

นายวรกาน ยังได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล “ระบบคลาวด์ได้กลายมาเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้กับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะองค์กรที่มองหาโซลูชันสำหรับการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ในราคาที่คุ้มทุน ก่อนหน้านี้ หลายๆ บริษัทอาศัยเซิร์ฟเวอร์ในการจัดเก็บข้อมูลเป็นหลัก แต่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งได้กลายเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งกว่า เพราะไม่เพียงจะสามารถเก็บรักษาข้อมูลได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนทางวิศวกรรมและการบำรุงรักษาได้อีกด้วย”

หัวเว่ย มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นวัตกรรม และประสบการณ์มาใช้ปลดล็อคศักยภาพทางดิจิทัล พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

เสริมพลังบุคลากรในยุคดิจิทัล

นายวรกานชี้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยุคดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่เรื่องขององค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาตนเองของบุคลากรแต่ละคนอีกด้วย องค์กรธุรกิจจึงต้องให้ความรู้และพัฒนาบุคลากรไปพร้อมๆ กับการเสริมพลังให้พนักงานได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้วย ดังนั้น ผู้นำองค์กรจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะต้นแบบที่แสดงให้ทุกฝ่ายได้เห็นถึงประโยชน์ที่ทั้งองค์กรและพนักงานจะได้รับจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ หัวเว่ย มีความมุ่งมั่นที่จะเติมเต็มช่องว่างทางดิจิทัลและบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทยผ่านทางโครงการต่าง ๆ อาทิ ‘Tech Talk and Tech Mentoring Program’ ซึ่งร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที และโครงการ ‘Seed for the Future’ ที่หัวเว่ยมีเป้าหมายสร้างนักพัฒนาระบบคลาวด์และผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจำนวนหลายหมื่นคนให้กับประเทศไทยภายในระยะเวลา3 ปีข้างหน้า โครงการต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นไปเพื่อการบ่มเพาะทรัพยากรบุคคลที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้กับประเทศไทยต่อไป สอดคล้องกับพันธกิจของหัวเว่ยในการ “เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย”อย่างต่อเนื่อง

*(ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ธันวาคม 2565)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *