ไมโครซอฟท์เผยแนวคิด “Frontier Firm”องค์กรผู้นำยุค AI ชี้ทิศทางและบทบาทการทำงานที่เปลี่ยนไป ในรายงานวิจัย Work Trend Index 2025

กรุงเทพฯ, 2 พฤษภาคม 2568 – ไมโครซอฟท์ เผยข้อมูลล่าสุดจากรายงานวิจัย Work Trend Index ฉบับปี 2025 มุ่งเน้นให้เห็นทิศทางการปรับตัวขององค์กรในประเทศไทยและทั่วโลก เพื่อมุ่งสู่สถานะ “Frontier Firm” หรือองค์กรระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรม ผสานการทำงานของ AI และการสร้างทีมงานรูปแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพนักงานที่เป็นมนุษย์นำทีม และให้ทีมงานดิจิทัลอย่าง AI agent เป็นผู้ช่วยทำงานต่างๆ อย่างอัตโนมัติ

รายงาน Work Trend Index ฉบับ 2025 นี้ รวบรวมข้อมูลผลสำรวจผู้บริหารและพนักงานรวม 31,000 คน จาก 31 ประเทศทั่วโลก ควบคู่ไปกับข้อมูลความเคลื่อนไหวในตลาดแรงงานโลกจาก LinkedIn รวมถึงข้อมูลจากการใช้งานจริงของกลุ่มผู้ใช้งาน Microsoft 365 ระดับองค์กร โดยในปีนี้ มีข้อมูลใหม่มาเพิ่มเติมจากกลุ่มสตาร์ทอัพสาย AI นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง

 

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยว่า “ผลสำรวจประจำปีนี้บอกเราว่าผู้บริหารในไทยตื่นตัวกันมากในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หลักขององค์กร โดยมีถึง 93% ที่มองว่าจะต้องคิดใหม่ วางทิศทางใหม่ให้ได้ในปีนี้ และเมื่อมองผลสำรวจในระดับโลก เห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรชั้นนำกำลังลงมือปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ยกระดับ AI จากเครื่องมือใช้งานทั่วไปให้กลายเป็นเพื่อนร่วมทีมคนใหม่ และส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI agent อย่างลงตัว ซึ่งองค์กรเหล่านี้เองที่กำลังสร้างมาตรฐานใหม่ด้านนวัตกรรมในฐานะ ‘Frontier Firm’ เพื่อการเติบโตที่รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป”

ประเด็นสำคัญจากผลสำรวจ Work Trend Index 2025 มีดังต่อไปนี้

  1. “ความชาญฉลาดแบบพร้อมใช้” เป็นสิ่งที่สามารถซื้อได้

ในอดีต ความชาญฉลาดหรือศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ และเสริมสร้างฐานความรู้ขององค์กร เป็นสิ่งล้ำค่าที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในการทำงาน แรงกาย หรือแรงใจ แต่ในยุค AI นี้ องค์กรระดับ Frontier Firm เริ่มมองเห็นแล้วว่าการมีเครื่องมือ AI หรือมีระบบ AI agent ทำงานแบบอัตโนมัติอยู่ภายในองค์กร นับเป็นการเติมเต็มช่องว่างด้านขีดความสามารถขององค์กร เพิ่มศักยภาพการทำงานอัจฉริยะ ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างคล่องตัวกว่าในอดีต

ผลสำรวจเผยว่าผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 90% (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 82%) มีแผนที่จะนำ AI agent เข้ามาทำงานเคียงข้างพนักงานในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า เนื่องจาก AI agent สามารถทำความเข้าใจในเนื้องาน วางแผนงาน และทำงานบางส่วนโดยอัตโนมัติด้วยตัวเอง โดยมีพนักงานเป็นผู้ดูแลและตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนที่สำคัญ หรือเท่ากับว่ามีแผนที่จะขยายองค์กรด้วย “ทีมงานดิจิทัล” ผ่าน AI นั่นเอง

แนวทางการสร้างทีมรูปแบบใหม่นี้ช่วยปลดล็อคศักยภาพ และข้อจำกัดต่างๆ ในการเพิ่มปริมาณงานที่ทุกองค์กรทั่วโลกต่างเผชิญมาโดยตลอด สอดคล้องกับผลการสำรวจที่บอกว่า 75% ของผู้บริหารไทย (เฉลี่ยทั่วโลก 53%) ต้องการให้องค์กรทำงานได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน พนักงานในองค์กรไทยถึง 88% (เฉลี่ยทั่วโลก 80%) รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีแรงและเวลาเพียงพอที่จะจัดการกับงานที่มีอยู่ล้นมือ

  1. เตรียมพลิกผังองค์กร เมื่อพนักงานจับมือ AI ทำงานเป็นทีม

ผู้บริหารองค์กรไทยราว 68% (เฉลี่ยทั่วโลก 46%) บอกกับเราว่าองค์กรของพวกเขาเริ่มนำ AI agent เข้ามาเปลี่ยนกระบวนการการทำงานบางส่วนให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติเต็มตัวแล้ว ซึ่งนับเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในทั้ง 31 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ โดยเมื่อมองไปที่ภาพรวมระดับโลกแล้ว จะเห็นได้ว่าองค์กรเริ่มมีทีมงานลูกผสมระหว่างพนักงานและ AI มากขึ้น โดยเฉพาะในสายงานบริการลูกค้า การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์

เมื่อเราหันไปสอบถามพนักงานว่าพวกเขาเลือกขอความช่วยเหลือจาก AI ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง พบว่าพนักงานไทยมีมุมมองแตกต่างจากคนทำงานทั่วโลกเล็กน้อย โดยเหตุผลอันดับหนึ่งคือสามารถเรียกใช้งาน AI ได้ทุกเวลา แต่พนักงานไทยเล็งเห็นคุณค่าของ AI ในการนำเสนอไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ขณะที่คนทำงานในประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญกับความเร็วและคุณภาพของผลงานจาก AI มากกว่าความคิดสร้างสรรค์เล็กน้อย

อัตราส่วนการใช้งาน AI agent ขององค์กรไทยที่สูงกว่าชาติอื่นๆ ยังสะท้อนออกมาในรูปของมุมมองที่พนักงานมีต่อ AI อีกด้วย โดย 56% ของพนักงานไทยมอง AI เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่แชร์ไอเดียกันในเวลาทำงาน ขณะที่ 43% มอง AI เป็นเครื่องมือที่ทำงานตามคำสั่งเท่านั้น (เฉลี่ยทั่วโลก 46% และ 52% ตามลำดับ)

  1. พนักงานทุกคนเป็นหัวหน้างานได้ ด้วยลูกน้องพลัง AI

ข้อมูลทั้งหมดในสองประเด็นที่ผ่านมาล้วนแสดงให้เห็นว่าการใช้งาน AI agent ในองค์กรมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า ผู้บริหารไทยมองว่าทีมงานในองค์กรจะต้องมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในงานประจำวันด้วย:

  • การออกแบบระบบงานใหม่ด้วย AI (51%)
  • การสร้างระบบอัตโนมัติสำหรับงานที่ซับซ้อน โดยมี AI agent หลายตัวทำงานร่วมกัน (51%)
  • การฝึกสอน AI agent ให้เข้าใจเนื้องาน (56%)
  • การบริหารจัดการ AI agent ในภารกิจต่างๆ (46%)

ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น พนักงานยังคงต้องการแรงสนับสนุนในด้านทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยผู้บริหาร ตอบว่าคุ้นเคยกับแนวคิดและการใช้งาน AI agentเป็นอย่างดี (ไทย 78% และทั่วโลก 67%)  มากกว่าพนักงาน (ไทย 53% และทั่วโลก 40%) แต่องค์กรส่วนใหญ่ก็เข้าใจในความจำเป็นตรงจุดนี้แล้ว และยกให้การเสริมสร้างทักษะของพนักงานเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดขององค์กรในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

เผยฟีเจอร์ใหม่ใน Microsoft 365 Copilot ตอบโจทย์องค์กรยุค AI agent

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ได้ประกาศฟีเจอร์ใหม่มากมายใน Microsoft 365 Copilot ที่จะเปิดโอกาสให้องค์กรทั่วโลกได้เข้าถึง AI agent ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น พร้อมด้วยโมเดล AI ที่มีความสามารถมากขึ้นในหลายด้าน

  • Researcher และ Analyst เป็นสอง AI agent ใหม่ที่สามารถช่วยงานด้านการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลได้ ด้วยความสามารถจากโมเดล AI ระดับ deep reasoning ของ OpenAI โดย agent ทั้งสองตัวจะเปิดให้ลูกค้าองค์กรบางรายได้ทดลองใช้ก่อนในระยะแรก นอกจากนี้ เรายังเปิดตัว Agent Store ที่รวบรวมสารพัด AI agent จากพันธมิตรของไมโครซอฟท์อย่าง Jira, Monday.com, Miro หรือแม้แต่ agent ที่แต่ละองค์กรพัฒนาขึ้นเอง มาไว้ในที่เดียวให้เรียกใช้งานได้ง่ายๆ
  • ฟังก์ชัน Create ใน Copilot สามารถสร้างสรรค์ภาพต่างๆ ได้ด้วยโมเดล GPT-4o ของ OpenAI จึงพร้อมเป็นผู้ช่วยงานออกแบบและกราฟฟิกของทุกคน สามารถรับมือได้ทั้งการปรับแก้ภาพเพื่อใช้งาน การสร้างภาพใหม่ๆ ที่ตรงกับแนวทางด้านภาพลักษณ์แบรนด์ขององค์กร หรือแม้แต่การเขียนข้อความประกอบ สร้างโพสต์สำหรับโซเชียลมีเดีย วิดีโอ และอื่นๆ อีกมาก
  • Copilot Notebooks เปลี่ยนเอกสาร โน้ต และห้องแชทต่างๆ ในมือคุณให้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดย Copilot สามารถดึงข้อมูลทั้งหมดนี้มาวิเคราะห์ แยกแยะตามความสำคัญ และให้คำแนะนำในการทำงานได้อย่างต่อเนื่องและแม่นยำ ทั้งยังสามารถอัปเดตคำแนะนำดังกล่าวตามข้อมูลใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาได้อีกด้วย
  • Copilot Search ช่วยหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลทั่วทั้งองค์กรให้กับคำถามและข้อสงสัยของผู้ใช้งาน โดยสามารถเชื่อมต่อกับระบบภายนอกได้มากมาย ทั้งระบบสนับสนุนงาน IT อย่าง ServiceNow ข้อมูลใน Google Drive ห้องแชทใน Slack แหล่งความรู้จาก Confluence หรือสถานะโปรเจคจาก Jira
  • Copilot Control System เสริมทางเลือกใหม่ให้องค์กรสามารถเลือกเปิด ปิด หรือบล็อกการใช้งาน AI agent ในองค์กรได้โดยละเอียด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานมีทางเลือกการใช้งาน AI agent ที่เหมาะสมกับเนื้องานของพวกเขา และลดความผิดพลาดหรือสับสนไปพร้อมกัน

“รายงาน Work Trend Index ประจำปีนี้ ชี้ให้เห็นว่าองค์กรทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกขั้น จากการทดลองใช้ AI สู่การใช้งานจริงและการปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับยุค AI มากยิ่งขึ้น” นายธนวัฒน์กล่าวเสริม “เราเชื่อว่าองค์กรและประเทศที่ปรับตัวให้ทำงานแบบ AI-first ได้ จะสามารถผสมผสานความสามารถของมนุษย์และ AI เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และปลดล็อกโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตสู่ความสำเร็จได้มากกว่าที่เคย โดยไมโครซอฟท์เองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนกับทุกองค์กร ด้วยเทคโนโลยีระดับโลกและคำแนะนำที่ตอบโจทย์ในโลกยุค AI”

ผู้สนใจสามารถอ่านรายงาน Work Trend Index 2025 ฉบับเต็มได้ ที่นี่ หรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ใน Microsoft 365 Copilot สำหรับองค์กรได้ ที่นี่