หัวเว่ยและภาคอุตสาหกรรมไทย เผยเทรนด์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล กุญแจสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต

กรุงเทพฯ,14มีนาคม พ.ศ.2566– ท่ามกลางบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงสภาพแวดล้อมโลกองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในแต่ละประเทศ โดยรายงานของธนาคารโลกฉบับใหม่ในปีพ.ศ. 2564 ระบุว่า “นวัตกรรม” มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสร้างการพัฒนาในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนั้นการกระตุ้นให้เกิดการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ประเทศไทยเองต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

งานสัมมนา “อนาคตประเทศไทย นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ”ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ในการหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอซีทีในระดับโลกได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ต่อประเทศว่า “ในปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการ “สร้างผลกระทบในวงกว้าง(Disrupt)”ให้กับทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนเทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันและโอกาสให้กับทุกภาคส่วนและมีผลกับทุกภาคส่วนในอีโคซิสเต็มสำหรับภาคธุรกิจ เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต เร่งความเร็วในการนำบริการออกสู่ตลาด นำไปสู่ความสามารถในการขยายตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สำหรับภาคประชาชน เทคโนโลยีดิจิทัลยังจะส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม และความสุขของประชากร”

 

ดร. ชวพลยังได้กล่าวถึงหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดที่น่าจับตามอง นั่นคือ “ดิจิทัลทวิน”ซึ่งจะเชื่อมโยงกับทุกเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้“ในอีก 7-10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีดิจิทัลทวินจะเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะที่ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ(Layer) หลักดังนี้

  1. เทคโนโลยีอุปกรณ์สื่อสาร (Device Technology)–การจะสร้างดิจิทัลทวินในเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นได้นั้น อุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องมีความฉลาด สามารถสื่อสารด้วยการรับ-ส่งข้อมูลกับผู้ใช้ และระหว่างอุปกรณ์กันเองได้ตลอดเวลา และข้อมูลจะต้องถูกเก็บรวบรวมอยู่ตรงกลาง นอกจากนั้นข้อมูลจะต้องถูกสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน รวมไปถึงผู้ให้บริการโครงข่าย เพื่อขับเคลื่อนอีโคซิสเต็มให้เติบโตและพัฒนาแบบบูรณาการ
  2. เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ หรือ Connectivityเพื่อให้เกิดการรับ-ส่งข้อมูลในความเร็วสูงและมีค่าความหน่วง (Latency) ที่ต่ำมากตัวอย่างที่ดีคือเทคโนโลยี5G
  3. เทคโนโลยีอัจฉริยะหรือ Intelligenceโดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมาย ได้แก่AI IoT และ Cloud ซึ่งเปิดกว้างให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเมืองและประเทศในด้านต่างๆ ได้

ดร. ชวพลยังได้ยกตัวอย่างถึงการประยุกต์ใช้อุปกรณ์สื่อสารร่วมกับดิจิทัลทวินในเมืองอัจฉริยะผ่าน “กล้องวงจรปิด” หรือ CCTV ซึ่งหากเราทำให้เป็นกล้องอัจฉริยะ เราจะสามารถใช้กล้องวิดีโอตรวจสอบเมือง ตรวจจับพฤติกรรม ช่วยบริหารจัดการการจราจร รวมไปถึงการจัดการความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางเท้าและที่จอดรถ ซึ่งจะทำให้เมืองดูปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทุกอย่างในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต และยังเกี่ยวข้องกับการพลิกโฉมด้านสาธารณสุข ให้เปลี่ยนจากการเน้นเรื่องการรักษาทางการแพทย์ มาเน้นเรื่องการมีสุขภาวะที่ดี(Well-being) ของประชาชนมากขึ้นด้วย

นพ.สุนทร ศรีทา ผู้บริหารและอำนวยการ โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ได้ให้ข้อมูลต่อยอดถึงเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงในวงการสาธารณสุขไทยในขณะนี้ว่า “ในปัจจุบันมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมายที่ได้รับการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น การใช้ AIเพื่อช่วยตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคและแนะนำการจ่ายยาให้คนไข้, IoMT (Internet of Medical Things) ซึ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการสื่อสารรับ-ส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์และเก็บข้อมูลการรักษาไว้ที่ส่วนกลาง รวมไปถึงเทคโนโลยี Teleconsultation และ Telemedicine ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรค ติดตามอาการ และให้คำแนะนำคนไข้ทางไกล นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยี VR and AR Mixed Reality ซึ่งเป็นระบบหุ่นยนต์ที่สามารถนำมาพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาคนไข้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้นเพิ่มความสะดวกและครอบคลุมพื้นที่ในชนบท ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ด้านนางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเมนส์ ประเทศไทย ได้กล่าวเสริมในเรื่องของการพัฒนาประเทศโดยมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนว่า “เทคโนโลยีสีเขียว” จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน จากพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด (พลังงานที่มีน้ำ ลม แสงแดดเป็นตัวตั้งต้น)มากถึงร้อยละ50 ภายในปีพ.ศ. 2593ซึ่งการจะทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายอัจฉริยะที่ยั่งยืน ในการเข้ามาบริหารจัดการระบบพลังงาน”

ทั้งนี้ ทางหัวเว่ยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุขและภาคอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยี 5G และ AI มาประยุกต์ใช้กับการตรวจและรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล และการเปิดตัวส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ในประเทศไทย เพื่อให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกในตลาดไทยโดยเฉพาะ ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ตั้งใจสนับสนุนประเทศไทยและความเชื่อมั่นว่าดิจิทัลเทคโนโลยีคือทางออกของการพัฒนาประเทศในอนาคต“การเติบโตของเรื่องนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีจะไม่เป็นตัวเลือกอีกต่อไป หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในระยะเวลาเพียง2-5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะล้าหลังประเทศอื่น ๆ และอาจไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไปส่งผลให้ประเทศไทยขาดความสามารถด้านการแข่งขัน ทั้งในด้านความเร็ว ต้นทุนการให้บริการ และการขยายตลาด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันคนมีตัวเลือกมากมายจากสินค้าและบริการทั่วโลก สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเพื่อให้สามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยีเหล่านี้ นำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างตรงจุดถูกประเด็น และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากประเทศมีคุณภาพเศรษฐกิจและคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดี ประชาชนก็จะมีความสุข ซึ่งความสุขของคนในประเทศถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้” ดร. ชวพลกล่าวปิดท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *