กรุงเทพฯ –(18 กรกฎาคม 2567)หลังจากความสำเร็จในการสำรวจดวงจันทร์ในยุคโครงการApolloที่ในอดีตมีเป้าหมายสำคัญคือเป็นการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจเพื่อแสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในปัจจุบันกระแสการเดินทางไปดวงจันทร์กลับมาอีกครั้ง ทำให้ได้เห็นประเทศต่างๆเข้ามามีบทบาทในการสำรวจอวกาศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินเดียญี่ปุ่นรัสเซียเกาหลีใต้และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ต่างก็มีแผนการมุ่งหน้าไปดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้และนอกเหนือจากภาครัฐแล้วยังมีอีกหลายบริษัทเอกชนที่จะมีภารกิจเยือนดวงจันทร์อีกด้วย
สาเหตุหลักมาจากการค้นพบสารประกอบน้ำบนดวงจันทร์ในปี 2008 ทำให้ดวงจันทร์กลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้งของนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ว่าการสำรวจดวงจันทร์จะกลายเป็นการเปิดประตูสู่การสำรวจอวกาศห้วงลึกให้กับมนุษย์ นอกจากการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆแล้ว การสำรวจดวงจันทร์ยังเป็นการผลักดันศักยภาพด้านเทคโนโลยีเช่นคอมพิวเตอร์การสื่อสารด้วยWiFi, GPS และการถนอมอาหารที่ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น
เรียกได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคแห่งการสำรวจอวกาศโดยเฉพาะการสำรวจดวงจันทร์ที่หลากหลายประเทศกำลังจับตามองประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสนใจกับการสำรวจดวงจันทร์ด้วยเช่นกันโดยได้มีการประกาศตั้งภาคีความร่วมมืออวกาศไทย(Thai Space Consortium: TSC)ในปี 2021 ที่เป็นการรวมตัวของหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศและสถาบันอุดมศึกษารวม 14 หน่วยงานนำโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ NARIT ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของโครงการ TSC คือการสร้าง “ดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์” ด้วยเทคโนโลยีฝีมือคนไทยเพื่อบุกเบิกการวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมขั้นสูงด้วยการสนับสนุนของกลุ่มธุรกิจ TCP
ประเทศไทยยังได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์และระดับโลกของจีนนำโดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ทั้งนี้ได้ร่วมลงนามกับห้องปฏิบัติการสำรวจห้วงอวกาศลึก (Deep Space Exploration Lab หรือ DSEL) ของ CNSA ในข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเชิงลึกภายใต้โครงการสถานีวิจัยบนดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station หรือ ILRS) ในปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในโครงการสำรวจดวงจันทร์ระดับแถวหน้าอย่างฉางเอ๋อ ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการนำเอาตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศจีนกับโครงการฉางเอ๋อ 5 และมีประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าในโครงการฉางเอ๋อ 7 ที่มีกำหนดจะนำส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2026 จะมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยเดินทางไปด้วยคือ‘MATCH’ หรือMoon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope เพื่อตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงภายใต้รังสีคอสมิกในอวกาศและศึกษากิจกรรมที่เกี่ยวข้องจากผลกระทบระหว่างดวงอาทิตย์โลกและดวงจันทร์
การพัฒนาเครื่องวัดอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศหรือรังสีคอสมิก(Cosmic Ray) เพื่อติดตามผลกระทบของสภาพอวกาศที่มีต่อโลกจะส่งผลต่ออุตสาหกรรม 5 ด้านหลักของไทยที่ได้รับผลกระทบจากSolar activity โดยตรงคือ 1. ระบบดาวเทียมในทุกพันธกิจโดยเฉพาะระบบดาวเทียมนำร่องในงานด้านโลจิสติกระบบบริการเวลาแม่นยำ 2. อุตสาหกรรมการบินของประเทศในด้านวิทยุการบินระบบนำร่องเครื่องบินพาณิชย์ 3. อุตสาหรรมพลังงานสะอาดเนื่องจากคุณภาพของSolar Cell ขึ้นอยู่กับอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ 4. เสถียรภาพด้านสายส่งไฟฟ้ากำลังงานสูงการมีข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้าน Space Weather จะทำให้สามารถสร้างแบบจำลองการแจ้งเตือนภัยต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้และ 5. ระบบสื่อสารดาวเทียมภาคพื้นของประเทศไทยซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากการสื่อสารเป็นปัจจัยหลักในทุกมิติ
สำหรับโครงการความร่วมมือไทย-จีนด้านการสำรวจทรัพยากรของดวงจันทร์ในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาของนวัตกรรมอวกาศยานไทย เนื่องจากเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรวิจัยชาวไทยให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาด้านวิศวกรรมระบบอวกาศยานสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึก ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบแจ้งเตือนภัยจากสภาพอวกาศแก่สาธารณะในกรณีที่อนุภาคพลังงานสูงผ่านสนามแม่เหล็กโลกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่อาจเกิดขึ้นจากพายุสุริยะ หรือรังสีคอสมิกจากอวกาศห้วงลึกรวมถึงทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้เองและสามารถนำมาใช้ในโครงการความร่วมมือด้านอวกาศไทย-จีนในลำดับถัดไป
ดร. ศรัณย์โปษยะจินดาผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีความร่วมมืออวกาศไทยกล่าวว่า “ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าร่วมกับองค์การอวกาศระดับชาติของจีนทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้เองและใช้งานในอวกาศได้จริง ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ไทย-จีนตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ตรรกะการออกแบบอุปกรณ์สำหรับอวกาศยานในอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยานนี้จะช่วยให้มนุษย์ได้ค้นพบความรู้ใหม่ๆทางวิทยาศาสตร์และสามารถต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมอีกมากมายที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกได้”
การไปถึงจุดหมายปลายทางได้นั้นต้องมีการร่วมมืออย่างบูรณาการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนโครงการให้ดำเนินต่อไปได้อย่างมีศักยภาพโดยกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศยาน นายสราวุฒิอยู่วิทยาประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCPให้ความเห็นว่า “กลุ่มธุรกิจ TCP เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยกันผลักดันงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยาน ซึ่งจะนำความก้าวหน้ามาสู่การสรรสร้างนวัตกรรมในหลากหลายอุตสาหกรรมเราจึงให้การสนับสนุน NARIT ในการพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยไทย เพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านอวกาศห้วงลึกจากองค์กรด้านอวกาศชั้นนำของโลกและนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นอวกาศยานจากฝีมือคนไทยต่อไปรวมถึงยังสนับสนุนการนำดินดวงจันทร์จากฉางเอ๋อ 5 มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในไทยเพื่อปลุกพลังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มีใจรักวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาเรียนรู้และเข้าใจว่าดาราศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราและงานวิจัยจากอวกาศสามารถนำไปสู่วันที่ดีกว่าได้”
ความพยายามดังกล่าวจะนำไปสู่แรงขับเคลื่อนในการสร้างอวกาศยานของไทยเองและอาจเป็นโอกาสในการสำรวจดวงจันทร์ของประเทศไทยในที่สุดกลุ่มธุรกิจ TCP และ NARIT ขอเชิญชวนทุกคนไปร่วมเรียนรู้นวัตกรรมและชมดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5 ในบูทนิทรรศการ Empowering Thailand through FRONTIER RESEARCH presented by TCP Group จัดโดยNARIT ในงานอว.แฟร์: SCI-POWER FOR FUTURE THAILANDบริเวณโซนF ระหว่างวันที่22-28 กรกฎาคม 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กรุงเทพฯตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย