Meta เข้มมาตรการปกป้องการเลือกตั้ง เสริมความโปร่งใส เตรียมความพร้อมเลือกตั้งทั่วไปของไทย ปี 2566

วันนี้ Meta ได้แชร์ความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชนในประเทศไทย พร้อมแนวทางการปกป้องการแทรกแซงและส่งเสริมความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ด้วยการดำเนินงานเชิงรุก 5 แนวทาง ซึ่งรวมถึง การจัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง การพัฒนานโยบายที่แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อจัดการกับเนื้อหาและเครือข่ายที่อันตราย การต่อสู้กับข้อมูลเท็จ การเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง และการดำเนินโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงการเพื่อส่งเสริมบทบาทพลเมือง

คุณแคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์กล่าวว่า “การเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต Meta ได้ยกระดับและต่อยอดจากประสบการณ์การทำงานระดับโลก พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย เราตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของเราในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนไทย และลดความเสี่ยงในการแทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์มของเรา”

Meta ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการเลือกตั้งทั่วโลก พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ผ่านการจัดสรรทรัพยากรบุคคลกว่า 40,000 อัตราในการทำงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ และในปี 2564 บริษัทได้ลงทุนด้วยงบประมาณมูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้กับการแทรกแซงจากต่างชาติและขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ รวมไปถึงการลดปริมาณข้อมูลเท็จและต่อสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในประเทศไทย Meta ได้จัดเตรียมทีมงานเพื่อดำเนินการด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหัวข้อดังกล่าวที่มีเข้าใจและคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังประกอบด้วยพนักงานชาวไทยที่พูดภาษาไทยอีกด้วย

เพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตราย ซึ่งรวมถึงการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์ Meta ได้ใช้เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจภาษาท้องถิ่นเพื่อตรวจจับและกำจัดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในเชิงรุก รวมถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุในมาตรฐานชุมชนของ Meta ซึ่งถูกบังคับใช้ในชุมชนระดับโลกของ Meta ทั้งหมด พร้อมกับการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทย

นอกจากนี้ นโยบายเพื่อป้องกันการแทรกแซงผู้ใช้สิทธิ์ของ Meta ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายหลายประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการแทรกแซงหรือสกัดกั้นการลงคะแนนเสียง เช่น การบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่าง ๆ

Meta ได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะเพื่อตรวจสอบและยับยั้งความพยายามในการเข้าถึงผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่โปร่งใส นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหาและหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมนับล้านบัญชี โดยบ่อยครั้งบริษัทสามารถตรวจเจอและลบบัญชีปลอมภายในเวลาไม่กี่นาที หลังจากที่บัญชีเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2565 มีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบัญชีที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม

การสนับสนุนให้ชาวไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน พร้อมต่อสู้กับข้อมูลเท็จ

การเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ ที่จะเพิ่มความโปร่งใสที่มากขึ้นในการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเมือง และประเด็นสังคม ในปัจจุบัน ผู้โฆษณาจะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องยืนยันตนเองด้วยบัตรประชาชนพร้อมรูปภาพที่ออกบัตรโดยรัฐบาล และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก”บนโฆษณาของพวกเขา เพื่อให้ผู้คนในประเทศไทยรับรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาดังกล่าว

นอกจากนี้ คนไทยยังสามารถค้นหาโฆษณาที่ถูกดำเนินการอยู่บน Facebook ได้จากคลังโฆษณา (Ad Library) ที่ให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณานั้น ๆ รวมถึงฟีเจอร์เกี่ยวกับบัญชีนี้ (About This Account) บน Instagram ที่จะช่วยให้บริบทข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้ได้ดีขึ้น

การต่อสู้กับข้อมูลเท็จถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นระยะยาวของ Meta โดยบริษัทได้มีการทำงานกับเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยองค์กรผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระจำนวนกว่า 90 ราย เพื่อตรวจสอบเนื้อหากว่า 60 ภาษารวมถึงภาษาไทย สำหรับข้อมูลเท็จประเภทที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ข้อมูลเท็จที่มีวัตถุประสงค์ในการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์หรืออาจก่อให้เกิดความรุนแรงและอันตรายต่อร่างกาย เนื้อหาประเภทนี้จะถูกลบออกจากแพลตฟอร์มของ Meta ในกรณีที่เนื้อหาไม่ละเมิดมาตรฐานเหล่านี้ แต่ได้รับการตรวจสอบและประเมินว่าเป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกลดการเผยแพร่และถูกติดป้ายแจ้งเตือนที่มาพร้อมการแสดงข้อมูลเพิ่มเติม ในประเทศไทย บริษัทยังได้ร่วมมือกับAFP Thailand ในฐานะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยอีกด้วย

และในวันนี้ Meta ได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ให้บริการใน 15 ภาษา รวมถึงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้และอบรมทักษะขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริง รวมถึงการลบล้างคำกล่าวอ้างที่ผิด และการจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือนและข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

การส่งเสริมทักษะความรู้เท่าทันดิจิทัลและการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของชาวไทย 

Meta เชื่อว่าความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรระดับท้องถิ่นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และได้จัดฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้แก่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้ง องค์กรไม่แสวงผลกำไร และผู้สมัครเลือกตั้งต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย บริการ เครื่องมือความโปร่งใสด้านการโฆษณา และเครื่องมือที่ใช้ในการรายงาน รวมถึงการจัดอบรมให้กับทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

การดำเนินงานดังกล่าวยังรวมถึงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างสังคมที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงการผลักดันให้ผู้คนตระหนักและสามารถรับมือกับข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของการเลือกตั้ง นอกเหนือจากโครงการWe Think Digital Thailandซึ่งเป็นโครงการเรือธงสำหรับประเทศไทยของ Meta ที่มุ่งสนับสนุนความรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว Meta ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร 8 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงสถานศึกษาท้องถิ่น สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อเปิดตัวแคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน และวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนมีความระมัดระวังในการปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งยังให้ข้อมูลพร้อมเกร็ดความรู้สั้น ๆ และกระตุ้นการยอมรับความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ (empathy)

นับตั้งแต่การเปิดตัวในปี พ.ศ. 2562 โครงการ We Think Digital Thailandได้มีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรภาคีในประไทยแล้วกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบในชุมชนของเรา มีผู้เข้าถึงข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้โครงการแล้วกว่า 32 ล้านคน

คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย จาก Metaกล่าวว่า “การทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่าการเสริมสร้างสังคมดิจิทัลที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนและการเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์จะต้องมาจากความพยายามร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และภาครัฐ เรามีความมุ่งมั่นในการสานต่อโครงการเพื่อให้ความรู้และส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้งานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ชาวไทยเข้าใจนโยบายของเราได้ดียิ่งขึ้น และใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อการมีส่วนร่วม”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *